ไทบรูสกลนคร นำอัตลักษณ์ศาสตร์ด้านสมุนไพรสร้างรายได้

นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ โรงเรียนบ้านคำแหว พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เทศบาลตำบลไร่ โรงเรียนบ้านหินแตก โรงเรียนบ้านโนนอุดม ชมรมผู้ปกครองออทิสติกจังหวัดสกลนคร วิศวกรสังคม จัดกิจกรรมปฏิบัติการพัฒนาอาชีพสมุนไพรด้วยทุนวัฒนธรรม โดยมีผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรม 60 คน เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 ณ โรงเรียนบ้านคำแหว ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

กิจกรรมเริ่มจาก นายนาวา มาตราช ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคำแหว กล่าวต้อนรับคณะนักวิจัย โดยมี ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จุดเทียนธูปบูชาพระและกล่าวเปิดกิจกรรม ตามด้วยเครือข่ายภาคีได้กล่าวแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานสมุนไพร เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ปกครองที่เข้าร่วม ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ แหล่งทุน และตลาด

นายนาวา มาตราช

ด้านนักวิจัย ได้เข้าพื้นที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาทุนวัฒนธรรมเผ่าบรูตั้งแต่ปี 2565 จึงเห็นชุมชนมีศักยภาพทางด้านสมุนไพร สืบทอดภูมิปัญญาและคงอัตลักษณ์ชนเผ่าบรูผ่านการดำรงชีพ “วิถีนักล่าสัตว์” เมื่อพูดถึงสมุนไพรชาวบ้านจะเล่าถึงนายพราน (ซึ่งเป็นผู้นำ) ที่มีศาสตร์คิดค้นยาสมุนไพรในการล่าสัตว์ ยาสมุนไพรบรรเทาอาการเจ็บปวดคลายกล้ามเนื้อในยามเดินป่า และสมุนไพรรักษาแผลเมื่อได้รับการบาดเจ็บ จึงมีวิธีการรักษาและป้องกันด้วยสมุนไพรหลายสูตรหลายตำรามาจนถึงปัจจุบัน

โมเดลแก้จนสมุนไพรยาบรู ทีมวิจัยได้เสนอกลยุทธ์เพื่อพัฒนาอาชีพที่คงอัตลักษณ์บรู ได้แก่ ลดรายจ่ายการซื้อสบู่ส่งเสริมองค์ความรู้การทำสบู่สมุนไพรให้กลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มรายได้ด้วยทำลูกประคบ (ผ้าฮมยาบรู) โดยมีโรงเรียนบ้านคำแหวเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้อำนวยการเป็น Area Manager ในการขับเคลื่อนสมุนไพรยาบรูบ้านคำแหว และหินแตก ในครั้งนี้

การพัฒนาสินค้าจากสมุนไพรนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแล้ว นักวิจัยหาช่องทางการเพิ่มรายได้จึงเชื่อมตลาดรับซื้อผลิตภัณฑ์กับ บริษัท ออทิสติกสกลนครวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และร้านมีชัยอำเภอพังโคน ซึ่งมีออเดอร์สั่งซื้ออย่างน้อยครั้งละ 200 ชิ้น

นอกจากนี้ โรงเรือนบ้านคำแหวจะนำหลักสูตรการแปรรูป การปลูกสมุนไพร จากนักวิจัยเข้าไปเป็นแผนการเรียนการสอน สาระวิชาการงานอาชีพ และกิจกรรมชุมชน เพื่อสืบทอดอัตลักษณ์บรูให้กับนักเรียน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนกับโรงเรียน บูรณาการตัวชี้ด้านการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีการออม สอดคล้องกับนโยบายสร้างรายได้ระหว่างเรียน

ปฏิบัติการโมเดลแก้จนเป็นการสร้างโอกาสทางสังคมให้กับชนเผ่าบรูด้วยอัตลักษณ์อย่างมีศักดิ์ศรี โดยโรงเรียนบ้านคำแหว ร่วมกับภาคีเครือข่าย และนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร สนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)








เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
{fullWidth}
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า